เมื่อเราศึกษาข้อคิดในการลงทุนเราจะพบประโยคหนึ่งว่า “เราควรจะวางไข่ไว้หลายๆตะกร้า” ซึ่งความหมายก็คือเราควรจะต้องกระจายความเสี่ยงการลงทุน มีทรัพย์สินหลายๆอย่างในพอร์ตการลงทุน เช่น
- การซื้อทรัพย์สินหลายๆแบบ หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาฯ
- การซื้อทรัพย์สินรูปแบบเดียวกันหลายๆ หุ้น A หุ้น B หุ้น B
การกระจายความเสี่ยงการลงทุนมันมีข้อดี เช่น สมมติเราลงทุนในหุ้น 5 ตัว แต่อยู่ๆมี 1 ตัวเกิดเจ๊งขึ้นมา ก็ยังมีอีก 4 ตัวที่สร้างผลตอบแทนได้ แน่นอนว่ามันดีกว่าการทุ่มซื้อหุ้นตัวเดียวแล้วเจ๊งนั่นล่ะพังทั้งพอร์ต
แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ทุกคนยอมรับและมีเหตุผลที่ดีในการลงทุน แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การเกิดโรค Covid-19 ระบาดทำให้การลงทุนโดยโดยภาพรวมมีปัญหา และไม่ว่าเราจะกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอย่างไรก็จะเจอผลกระทบอยู่ดี
- หุ้น ราคาปรับตัวลงอย่างรุนแรง
- ตราสารหนี้ถูกเทขาย
- อสังหาฯ คนไม่เช่า ขายยาก ราคาตก
- ทองคำ น้ำมันผันผวน
ปัญหาแบบนี้มันเกิดจากผลกระทบจากความเสี่ยงทั้งระบบ ผมไม่แน่ใจว่าเราจะเรียกว่าเป็น Systemic Risk หรือ Systematic Risk ดี อ่านบทความของหลายๆที่ก็มีการมองที่แตกต่างกัน แต่เอาเป็นว่า การเกิด Covid-19 มันเป็นจุดเริ่มต้นของการลุกลามไปเป็นผลกระทบทั้งระบบได้
แล้ววิธีคิดในการลงทุนของเราควรเป็นอย่างไร?
บทความนี้ผมอาจจะเล่าเฉพาะในส่วนของการลงทุนหุ้นนะครับ เพราะเป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างถนัด การมองในมุมของดัชนีหรือหุ้นรายตัว จะจัดพอร์ตอย่างไรก็ถูกกระทบกันอยู่แล้ว ไม่ค่อยจะรอดกันเท่าไหร่
ถ้าเราดูสถานการณ์แล้วหลายคนอาจจะไม่แน่ใจว่าจะต้องตัดสินใจอย่างไร จะซื้อจะขายหรือปรับพอร์ตการลงทุน เราอาจจะต้องมาเริ่มๆใจเย็นๆกันก่อนนะครับ อย่าพึ่งเอาราคาหุ้นหรือทรัพย์สินมาเป็นตัวตั้งเพราะมันจะทำให้เราเกิดอารมณ์ไปกับตลาด แต่การกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่ดีของเราน่าจะช่วยทำให้การตัดสินใจของเรามีแบบแผนมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนมองก่อนก็คือ “ภาพระยะยาว” ว่ามันจะเป็นอย่างไร รวมถึง “ภาพระยะสั้น” ในตอนนี้ที่เรากำลังกำลังวนอยู่ในตอนนี้เพื่อนำมาพิจารณาตัดสินใจ ถ้าเรามองจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในอเมริกาตั้งแต่ปี 1896 – 2016 ในระยะยาวก็จะมีการปรับจัวขึ้น แม้ในระยะสั้นก็จะมีเหตุการณ์ต่างๆที่แตกต่างกันไปและแต่ละอย่างก็ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน
อย่างช่วงที่แย่ๆของเขาก็คือ The Great Depression ที่กินเวลากว่า 25 ปี แต่จะเห็นได้ว่า ในช่วง 25 ปีนี้ล่ะดัชนีตลาดก็มีการปรับตัวที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ผมว่าท้ายสุดแล้วเราต้องกลับมาให้มุมมอง คิดว่า Covid-19 จะกินเวลาขนาดไหน
เราอาจะยังไม่เห็นตอนนี้หรอก แต่คิดว่ามันจะแก้ปัญหาถึง 25 ปีไหม? อันนี้เราอาจจะพอเดาได้ว่ายังไม่ถึงสถานการณ์แบบนั้น ปัจจุบันมนุษย์สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อที่จะลดเวลาพัฒนายาและวัคซีนต่างๆได้ และอย่างไรก็ตามเศรษฐกิจมันก็น่าจะกลับมาเดินได้ต่อแบบเดิม
“Focus in Long-term Perspective”
พอเห็นแบบนี้ปุ๊ปก็จะรู้ว่าเราอย่าพึ่งหลุด Focus ของเป้าหมายเพียงแต่ในระยะเวลานี้ เราอาจจะต้องอดทนที่จะผ่านมันไป
ภาพจาก Marketwatch
มุมมองในการจัดการลงทุนของผม
พอเราพอเข้าใจแล้วว่าเศรษฐกิจมันจะมีวันหนึ่งที่ฟื้นกลับมา เราก็ต้องมีกระบวนการในการจัดการ ในภาษาของการลงทุนมันจะมี Key Perfermance 2 อย่างที่เราสามารถนำมาใช้เพื่อตอบวิธีการของเราได้ก็คือ Alpha และ Beta ตรงนี้มีบทความในตลาดหลักทรัพย์อธิบายไว้นะครับ เผื่อใครไปอ่านต่อ >> Alpha and Beta
ฺBeta คือ การที่เราพยายามสร้างผลตอบแทนโดยอิงกับดัชนีชี้วัด ถ้าการลงทุนมันสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนรวมของดัชนีนั่นล่ะดีแล้ว เพราะถ้าเราเชื่อว่าดัชนีระยะยาวมันจะสร้างผลตอบแทนได้ในท้ายสุด วิธีการนี้ก็จะได้ผลในระยะยาวและเป้าหมายของเราเช่นกัน
Alpha คือ การที่เราพยายามสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดหรือดัชนีชี้วัด ตรงนี้เราจะเน้นไปในเรื่องของฝีมือการจัดการทรัพย์สินที่จะสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น แต่ต้องอย่าลืมว่าวิธีนี้ก็จะมีความเสี่ยงนะครับ
พอเราเห็นแนวทางการลงทุนแบบนี้ เราก็คงได้ Idea ในการจัดการของเราได้ละ ผมว่าเราจะถอดภาพในเชิงกลยุทธ์ของเราได้ล่ะ
กลยุทธ์ที่ 1 : DCA บนแนวคิด Beta
ก็ใช้วิธีการ Dollar Cost Average (DCA) ในกองทุนรวมดัชนีครับ ตรงนี้เราจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ตลาดมันก็จะมีช่วงที่ลงกับช่วงที่ขึ้นเราล้อไปกับตลาดเลยเพื่อเป้าหมายในระยะยาวของเรา วิธีนี้ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมครับ พวกกองดัชนี ETF ทั้งไทย ทั้งต่างประเทศมีให้เราได้ศึกษาเยอะเลยครับ ก็ลองดูนะครับว่าเราจะเลือก DCA Index Fund ตัวไหน
กลยุทธ์ที่ 2 : DCA บนแนวคิด Alpha
เป็นอีกแนวทางหนึ่งแต่จะมีความเสี่ยงกว่ากลยุทธ์ที่ 1 เพราะเราจะต้องใช้ความสามารถในการเลือกทรัพย์สินที่จะสร้างผลตอบแทนสูงกว่าตลาด แต่ๆๆๆ ต้องอย่าลืมนะครับว่าการใช้วิธีการนี้เลือกผิดชีวิตเปลี่ยนเลยเหมือนกัน อะไรที่มันมีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงกว่าก็ย่อมมีโอกาสเจ๊งได้สูงด้วยครับ ทักษะในการเลือกทรัพย์สินจึงสำคัญในวิธีการนี้
- DCA หุ้น (ออมหุ้น) ก็เลือกหุ้นที่มีคุณภาพและสามารถเติบโตในระยะยาวได้ ในช่วงที่เกิด Covid-19 จะเป็นตัวอย่างที่ดีครับเพราะเราจะเห็นเลยว่าหุ้นตัวไหนมีผลกระทบแต่ต่างกันอย่างไร และพอมองในระยะยาวหลังจาก Covid ผ่านไปตัวไหนจะยังคงมีความได้เปรียบในการแข่งขันรวมถึงความสามารถในการทำกำไรได้
- DCA กองทุนรวม (Active Fund) ตรงนี้ให้ผู้จัดการกองทุนเป็นคนเลือกหุ้นเข้า Port กองทุนรวมครับ เราก็รับความเสี่ยงและ DCA ไปตามเป้าหมาย ในส่วนนี้ Vision ของผู้จัดการกองทุนรวมสำคัญมากๆครับ
กลยุทธ์ที่ 3 : DCA บน Smart Beta & Low Beta
วิธีการนี้ผมว่ามันก็เป็นอะไรที่น่าสนใจนะครับ คือการที่เราลงทุนแบบ Passive Investment ล้อไปกับตลาด แต่จะมีการให้น้ำหนักการลงทุนบางอย่างที่สร้างผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดไปด้วย เช่น การดู Value Momentum Quality Size นอกจาก Smart Beta แล้วก็ยังมีพวก Low-Beta ที่จะเน้นการลงทุนที่ทำให้เกิดความผันผวนต่ำนะครับ ลองศึกษาข้อมูลกองทุนแบบ Smart Beta หรือ Low-Beta กันดูนะครับ
ส่วนใครที่มองว่าเราสามารถใช้ความสามารถในการสร้างผลตอบแทนแบบฝีมือตัวเอง เช่น การจับจังหวะการลงทุน การใช้วิธีการของ Value Investor หรือ การใช้หลักการของ Trader ก็ลองพิจารณาตามแนวทางของตัวเองในช่วงนี้นะครับ
ก็หวังว่าบทความนี้จะพอเป็นแนวทางวิธีคิดในการต่อยอดการลงทุนให้เป็นในแบบของตัวเองได้นะครับ
อ่านเพิ่ม คนอยากมีรายได้อื่นๆ
Reference
https://www.marketwatch.com/story/the-dows-tumultuous-120-year-history-in-one-chart-2017-03-23
https://www.icgn.org/coronavirus-new-systemic-risk-implications-corporate-governance-and-investor-stewardship
https://www.investopedia.com/ask/answers/102714/whats-difference-between-alpha-and-beta.asp
https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=5134&type=article
https://www.investopedia.com/terms/s/smart-beta.asp