พี่ว่าคงมีหลายคนที่เจอปัญหาเดียวกันในเรื่องการใช้จ่าย การเปย์แหลกแหกเงินเดือน เห็นอะไรก็อยากได้อยากโดน แล้วควบคุมตัวเองไม่ได้ ต้องเปย์ๆๆๆๆ
อย่างตอนเช้าๆนะ ไปทำงาน เดินผ่านหน้าร้านกาแฟ กลิ่นลอยมาในสมองหอมสุด ท่องว่า “ไม่นะ… ไม่ซื้อค่ะ… ม่ายยย ฉันจะเก็บเงิน”
แล้วอีกแปปเธอก็เดินถือแก้วกาแฟออกมาพร้อมขนมอย่างมีความสุขแล้วบอกตัวเองว่า “ครั้งสุดท้ายนะคะ พรุ่งนี้จะไม่ซื้อแล้ว”
นั่นล่ะ… แล้วก็ครั้งสุดท้ายทุกวัน วนไปค่ะ
—
เวลาที่เราได้เจอสิ่งที่เราชอบ ร่างกายมันจะหลั่งสารที่สร้างความสุขออกมา ทำให้เรารู้สึกในแง่บวกที่จะทำสิ่งนั้นๆ เมื่อเราได้รับมาก็จะกลายเป็นรางวัลแห่งความสุข
และมันจะไม่จบแค่ครั้งเดียว เวลาเราเจอสิ่งที่ชอบในครั้งต่อๆไป มันก็จะควบคุมให้เราเกิดความอยากและกล้าควักเงินใช้จ่ายในเรื่องนั้นๆอีก เช่น
“อยากกินกาแฟทุกๆเช้าเมื่อเดินผ่านหน้าร้าน”
“ช้อปปิ้งทุกครั้งเมื่อร้านโปรดของเราลดราคา”
“ไปร้านนวด ติดนวดมาก มันสบายขา”
“อยากเติมเงินในเกมส์ให้ชนะอีก”
“อยากไปเที่ยวกลางคืน เพราะคิดถึงผู้คนที่เคยเจอ”
“ไปกินเหล้ากันเธอออออ ร่างกายต้องการแอลกอฮอล์”
เรื่องที่ทำให้เรามีความสุขในการใช้จ่ายนี่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนนะ ไม่ใช่ทุกคนจะชอบเหมืนกัน แต่มันจะมีบางอย่างที่ทำให้เรามีความสุขได้เมื่อใช้จ่ายอย่างเป็นประจำอยู่บ้าง
—
ถ้าเธอมีความสุขในการใช้จ่าย พี่ว่ามันก็ไม่ผิดหรอกที่จะทำ แต่ถ้าวันหนึ่งเธอคิดว่า เธอรู้สึกว่ากำลังใช้จ่ายมากเกินไป อยากเลิกแต่เลิกโครตยากเลย ไม่อยากเปย์แล้ว จะทำไงดี?
สิ่งที่เราต้องทำคือ “การเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต”
เอ่ะ! จะเปลี่ยนได้อย่างไร จริงๆตัวเราเองอาจจะมีสิ่งที่ชอบกลายอย่างนะ บางอย่างเป็นเป้าหมายที่ต้องอาศัยวินัยในการเก็บออมระยะยาว ลองเอาเป้าหมายนั้นมาเป็นทางเลือกให้เราเพื่อ “ออมเงิน”
เช่น… เราโครตติดซื้อเสื้อผ้าเลย เราลองให้ตัวเองเลือกเพิ่มเติมดู
1. สร้างทางเลือกในการออมให้ยาวขึ้น
ซื้อเสื้อผ้าอาทิตย์ละ 1,000 (เดือนละ 4,000) หรือ จะเก็บ 10 เดือน ได้ 40,000 ไปเที่ยวญี่ปุ่นซักรอบดีวะ?
ถ้าเราตกลงกับตัวเองว่าจะเอาเงินส่วนนี้ไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็ลองย้ายเป้าหมายในการออมให้ยาวขึ้นดู ใช้วิธีตัดเงินอัตโนมัติไปเข้ากองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นก็ได้
แรกๆเราอาจจะแบบ เออ… ขอซื้อเสื้อผ้าหน่อยนะ แต่เราจะหาทางประหยัดในจุดอื่นเพื่อออมให้ได้ในระยะยาวขึ้น ตรงนี้ต้องจิกหมอนค่ะ
2. หลีกเลี่ยงการเจอสิ่งที่จะทำให้ต้องจ่ายเงิน
ถ้าจะให้ได้ผลมากขึ้น เราก็อย่าเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงจะใช้เงิน กลัวจ่ายตังให้ร้านเครื่องสำอางค์ร้านเดิม ก็อย่าไปเดินผ่านมัน ชวนเพื่อนให้ไปที่อื่น เดินทางอื่น
เปิด App ซื้อของ Online แล้วเจอของอยากซื้อก็ลบ App ไปชั่วคราวก็ได้ ต้องการซื้ออะไรจริงๆค่อยโหลดใหม่ บางทีพอไม่ได้เปิดไปนานๆเราเองอาจจะลืม App นั้นไปเลยก็ได้
3. อยู่กับเพื่อนที่มันชอบเก็บเงิน
ถ้าเราอยู่กับเพื่อนที่ชอบใช้เงินนะ เดี๋ยวเขาจะชวนเราไปซื้อนั่นซื้อนี่แน่นอน แต่ถ้าเราไปอยู่กับเพื่อนสายออมเงิน มันจะมีวิธีการแปลกๆให้เราได้เรียนรู้ที่จะประหยัดตังค์ได้มากขึ้นได้
4. พยายามย้ำกับตัวเองว่าเรามีเป้าหมายระยะยาวอยู่
เวลาเจอสิ่งกระตุ้นให้ซื้อ พยายามย้ำกับตัวเองว่าเรามีเป้าหมายระยะยาวอยู่ ต้องทำให้เป้าหมายสำเร็จ วางแผนเก็บเงิน 40,000 ไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็เอาภาพญี่ปุ่นตั้งตรงหน้าจอมือถือ หน้าคอม แปะรูปไว้ตรงตู้เย็น ใส่รูปในกระเป๋าตังค์ เราจะได้แบบย้ำกับตัวเองได้ตลอด
—
ก็เป็นแนวทางของการเก็บออมนะเธอ เราเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง โดยการตั้งเป้าหมายให้ยาวขึ้น งดสิ่งเร้าในระยะสั้น พอทำสำเร็จ เราให้รางวัลตัวเองด้วยการใช้เงินไปกับสิ่งนั้น แล้วลองสร้างเป้าหมายให้ยาวขึ้น เป้าหมายยาวๆไปเลยเช่น
1. สร้างแผนเกษียณเก็บเงิน 30 ปี
2. เก็บเงินไปอยู่บ้านพักคนชราคานทองนิเวศน์ (ถ้าไม่มีผัวต้องวางแผนตั้งแต่อายุ 30 นะคะลูกสาว)
ก็หวังว่าหลักการนี้จะช่วยให้ทุกคนที่อยากเก็บเงินนำไปใช้ได้จ้า จุฟๆ
พี่ต้าร์เอง